4.22.2555

" AEC ไม่เกี่ยวกับ HR จริงหรือ? "

HR in Trend
" AEC ไม่เกี่ยวกับ HR จริงหรือ? " 

เมื่อกล่าวถึง AEC (ASEAN Economic Community) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเกิด ขึ้นในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) อาจดูห่างไกลจากงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ แต่ถ้าพูดถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับงานของ HR อย่างแน่นอน แต่ก่อนที่ชาว HR จะเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ HR คงต้องเห็นภาพกว้างของ AEC ก่อน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คืออะไร
อาเซียน (ASEAN : Association of Southeast Asian Nations) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม สำหรับสมาชิก 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม จะเรียกว่า กลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นสมาชิกที่เข้ามาเพิ่มภายหลัง สมาชิกอาเซียนได้ตกลงกันว่าจะร่วมมือกันใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านความมั่นคง ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ จึงได้จัดตั้งประชาคมแต่ละด้าน ดังนี้

•ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community : ASC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกอยู่อย่างสันติสุขและมีความมั่นคง
•ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community : ASCC)มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชากรของประเทศสมาชิกมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี และได้รับการพัฒนาในทุกด้าน
•ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
สำหรับ AEC หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) นั้น ได้มีการจัดทำAEC Blueprint ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนจนถึงปีพ.ศ. 2558 อาเซียนจะไม่เก็บภาษีสินค้ากับประเทศสมาชิก นอกจากนี้ใน AEC Blueprint ได้กำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ด้านหลัก ดังนี้

1.การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน ให้สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ (Skilled Labour) ได้อย่างเสรี
2.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน เช่น กำหนดกรอบนโยบายภาษี นโยบายการแข่งขัน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ
3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสมาชิกเก่าซึ่งมีฐานทางเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มสมาชิกใหม่ (กลุ่ม CLMV)
4.การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจทั่วโลก ดำเนินการเพื่อประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี การสร้างเครือข่ายการผลิตและการจำหน่าย
นอกจากนี้ยังมีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นในด้านต่างๆ เช่น อาเซียน + 3 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น), อาเซียน + 6 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) เป็นต้น

จาก 4 ยุทธศาสตร์หลักของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กล่าวมาข้างต้น ชาว HR คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไม่กระทบกับการทำงานของฝ่าย HR เลย แต่ผลกระทบที่มีต่อ HR ในแต่ละองค์กรจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าซีอีโอขององค์กรที่ท่านทำงานอยู่จะกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจไปในทิศทางใด ส่วน HR ก็ต้องกำหนดกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับบุคลากรให้สอดคล้องกัน HR หลายท่านต้องเหนื่อยหน่อย ถ้าพื้นฐานด้านบุคลากรไม่แข็งแรง ไม่สามารถตอบสนองทิศทางการดำเนินธุรกิจได้

ผลกระทบของ AEC ต่อเศรษฐกิจของไทย
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สรุปผลกระทบจากการลดอัตราภาษีเป็น 0% ในปี พ.ศ. 2558 ไว้ดังนี้

•GDP ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ คือ เพิ่มขึ้นอีก 1.75%
•มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4,805.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแยกเป็นรายสินค้าสำคัญ ดังนี้


•มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 3,404.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแยกเป็นรายสินค้าสำคัญ ดังนี้

ดิฉันนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.citsonline.utcc.ac.th

ผลกระทบของ AEC ต่อการทำงานของ HR
การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีที่จะเริ่มขึ้นนั้น AEC ได้กำหนดไว้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ต้องเป็นแรงงานฝืมือที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs) ซึ่งเริ่มที่ 7 สาขา คือ

1.แพทย์
2.ทันตแพทย์
3.พยาบาล
4.วิศวกรรม
5.บัญชี
6.สถาปัตยกรรม
7.การสำรวจ
นับว่าโชคดีที่เริ่มต้นด้วยการกำหนดเฉพาะกลุ่มแรงงานฝีมือใน 7 สาขาวิชาชีพเท่านั้น เพราะหากปล่อยให้เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเลย อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นได้ เราลองมาจินตนาการดูว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเวลานั้น ภาพในจินตนาการคงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เพราะ AEC อาจเพิ่มเติมรายละเอียดบางอย่างเมื่อใกล้ๆ ถึงวันเริ่มต้นจริงๆ ตัวอย่าง เช่น

1.ในภาพรวมของตลาดแรงงานไทย (ในมิติของคนทำงาน) คยไทยที่มีอาชีพใน 7 สาขาข้างต้น ถ้าเป็นคนเก่ง มีความพร้อมที่จะทำงานไกลบ้าน และทักษะการใช้ภาษาดีซึ่งอาจไม่ใช่ภาษา อังกฤษอย่างเดียว จะมีโอกาสหางานที่โดนใจมากขึ้นเพราะตลาดแรงงานจะใหญ่ขึ้น คนกลุ่มนี้อาจไปทำงานที่สิงคโปร์ซึ่งได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และจะกลับบ้านเมื่อไรก็ได้ ใกล้นิดเดียว ดังนั้นการย้ายงานจะอยู่ในลักษณะระหว่างประเทศ ไม่ใช่ระหว่างองค์กรใหญ่ๆ


2.ในภาพรวมของตลาดแรงงานไทย (ในมิติขององค์กร) ในเมื่อตลาดแรงงานใหญ่ขึ้นมาก องค์กรก็มีโอกาสในการเลือกแรงงานฝีมือจาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะจ้างเข้ามาทำงานในประเทศไทย (ตรงนี้ HR ต้องจัดอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้ามชาติ หรือ Cross – Cultural) หรือ ย้ายองค์กร/เพิ่มสาขาไปยังประเทศที่มีแรงงานฝีมือตามที่ต้องการ


3.ในภาพขององค์กรที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์, ตลาดใหญ่ขึ้นเพราะ 10 ประเทศรวมเป็นตลาดเดียว (ประชากรเกือบ 600 ล้านคน), การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ช่วยลดต้นทุนไม่ว่าจะเป็นต้นทุนแรงงาน หรือ ต้นทุนการขนส่งเพราะมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและถูกลง ฯลฯ แต่เมื่อองค์กรต้องการคว้าโอกาสที่เห็น กลับไม่มีคนทำงาน HR ต้องคิดวิธีการสรรหาคนที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ, วิธีรักษาและพัฒนาบุคลากรไว้ล่วงหน้า เช่น การกำหนดค่าตอบแทนสำหรับคนไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศและสำหรับคนต่างประเทศที่จะมาทำงานในไทย, การปรับโครงสร้างค่าจ้างให้แข่งขันได้, การคิดรูปแบบสวัสดิการที่ตรงกับพนักงานในกลุ่มต่างๆ, การจัดอบรมและกิจกรรมเพื่อให้คนหลายเชื้อชาติทำงานร่วมกันได้, การสร้างสภาพแวดล้อมให้คนทำงานรู้สึกกระฉับกระเฉง มีบรรยากาศของการเรียนรู้ ฯลฯ การจัดโปรแกรมการพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการหาคนที่ “ใช่” เข้ามาทำงานเพราะการพัฒนาให้คนเก่งขึ้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 – 5 ปี

4.ในภาพขององค์กรเช่นกัน แต่เป็นองค์กรที่คาดว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะคู่แข่งจะเข้ามาถึงในบ้าน เช่น ต้นทุนของคู่แข่งต่ำกว่า, เกิดคู่แข่งใหม่ๆ หรือ อาจสูญเสียธุรกิจให้คู่แข่ง ในสถานการณ์เช่นนี้ HR ต้องช่วยสนับสนุน CEO ในเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงก่อนที่วิกฤตจะมาถึงจริงๆ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นต้องเปลี่ยนจากการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management) เป็นการบริหารวิกฤต (Crisis Management) แทน และต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กรให้เกิดความคล่องตัว การปรับกระบวนการทำงานให้กระชับขึ้น การปรับทีมงานให้เหมาะสม และการสร้างความรู้สึกร่วมที่จะพัฒนาตนเองและร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน สิ่งสำคัญ CEO ต้องเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจ และเมื่องานสำเร็จตามแผนการปรับเปลี่ยนต้องให้รางวัล
สรุปว่าในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) อาเซียนจะเปลี่ยนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเป็นทั้ง “โอกาส” ที่คนไทยจะไปตักตวงผลประโยชน์ในต่างประเทศและเป็น “ความท้าทาย” ที่คนไทยต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศที่จะเข้ามาฉกฉวยโอกาสในประเทศของเราเช่นกัน เหลือเวลาอีกเพียง 4 ปีเท่านั้น คุณพร้อมแล้วหรือยังคะ?
ข้อมูลจากhttp://www.cdcthailand.com/news/HR/hr_law/2011/hr11_100.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น