4.16.2555

จาก “ปีเตอร์ ดรักเตอร์” กูรูแห่งการบริหารการจัดการ สู่ “ธนินท์ เจียรวนนท์”


 จาก “ปีเตอร์ ดรักเตอร์” กูรูแห่งการบริหารการจัดการ สู่ “ธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าของแนวคิดการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ “กระต่าย กับ เต่า” 
11:29 AM :: 1558 Views :: คุยกับซี.พี

 
  
หากว่า ปีเตอร์ ดรักเกอร์” (Peter Drucker) ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็มีอายุครบ 100 ปีเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งทั่วโลกได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเขาในฐานะ บิดาแห่งการจัดการสมัยใหม่  และ ผู้คิดค้นการจัดการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด ภายหลังวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นักวิชาการต่างตั้งคำถามว่า ถ้าดรักเกอร์ยังมีชีวิตอยู่เขาจะให้คำปรึกษากับนักธุรกิจ นักการเมือง ในการเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ของโลกอย่างไร ต่อปัญหาการล้มละลายของธุรกิจยักษ์ใหญ่ อัตราการว่างงานที่ไม่ยอมลดลงของสหรัฐอเมริกา    การล้มละลายของเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)  วิกฤตราคาสินค้าปฐมรอบใหม่ โดยเฉพาะส่วนประกอบอาหารและน้ำมันซึ่งเป็นชนวนสำคัญของการเกิดประทุวิกฤตการเมืองในหลายประเทศในภาคตะวันออกกลางในขณะนี้
 สถาบันการศึกษาและบริษัทให้คำปรึกษาทั้งหลายโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากบทบาทและผลงานของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ในฐานะกูรูที่ปรึกษาแห่งทฤษฎีการจัดการ(โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทอเมริกาและญี่ปุ่น) ต่างกำลังมีความคึกคักด้านการให้คำปรึกษาด้านปัญหาการจัดการ ซึ่งจะเป็นพาหนะนำพาให้ไม่เพียงแต่บริษัทตะวันตก แต่รวมถึงบริษัทในกลุ่มเศรษฐกิจเอเซียซึ่งถูกจับตามองว่ากำลังมีบทบาทผงาดในการจัดการบนเวทีเศรษฐกิจโลก

เพื่อให้ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปได้ ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกูรูด้านการบริหารจัดการคนหนึ่งบนซีกโลกตะวันออก ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตอย่างมั่นคงจนปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 90 แห่งการดำเนินธุรกิจ ได้มองว่า ธุรกิจเป็นสิ่งทีมีชีวิตซึ่งยึดฐานของสังคมมนุษย์ คือ คุณธรรม จริยธรรม และความครองธรรม ในพฤติกรรมต่าง ๆ ของตนตลอดจนการจัดระเบียบการปกครองหรือบริบทในสังคมที่อาศัยการพึ่งพา ตลอดจนการจัดระเบียบการปกครองหรือบริบทในสังคมที่มีการแข่งขัน เพื่อการพัฒนาและเจริญเติบโต
ธุรกิจจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของสังคมและประเทศที่เป็นระบบที่มีชีวิต(Living Organism : มีองค์ประกอบลูกจ้าง คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้เสียภาษี) ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมและประเทศจึงต้องยึดหลักปฏิบัติต่าง ๆ ที่จะเสริมความสงบ/ความมั่นคงและสร้างความเจริญต่อส่วนรวม

ทัศนะดังกล่าว จึงเป็นที่มาของปรัชญา สามประโยชน์ ในการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวคือ ธุรกิจคือการประสานประโยชน์ของประชาชน รัฐ และบริษัท

นอกจากนี้ธุรกิจตามมุมมองที่เป็น Living Organism จะต้องมีความถาวรยั่งยืน(Sustainability)

เครือเจริญโภคภัณฑ์ถือกำเนิดจากพื้นเพวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารแบบครอบครัว แต่ ธนินท์ เจียรวนนท์ สนใจเป็นพิเศษต่อประเด็นที่เกี่ยวกับการต่อเนื่องและความยั่งยืนของธุรกิจซึ่งเป็นปัจจัยที่ข้ามพรมแดนหรือเส้นแบ่งระหว่างวัฒนธรรมธุรกิจตะวันตก และตะวันออก

ธุรกิจแบบครอบครัวของจีนดั้งเดิมมักจะถูกวิจารณ์ว่าไม่ก้าวเกิน 3 ชั่วคน (ความมั่งคั่งไม่ผ่านสามรุ่น) แต่สำหรับธนินท์  เจียรวนนท์ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจการบริหารซึ่งตัวบุคคลนั้นอาจเป็นสมาชิกของครอบครัว หรือผู้อื่นที่เป็นมืออาชีพสุดแล้วแต่สถานการณ์และโอกาส แต่ที่สำคัญคือองค์กรธุรกิจต้องเป็นองค์กรที่มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติการสืบทอด ผ่องถ่ายหน้าที่ และความรับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงการเตรียมผู้บริหารขององค์กรสำหรับภารกิจดังกล่าวอย่างมีระบบ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญการ 
ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ทุ่มเทในการศึกษาและเรียนรู้จากบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น General Electric (GE) ถึงระบบการสร้างผู้นำที่ทำหน้าที่บริหารองค์กรอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเตรียมผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ท้าทายในโลกที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางสิ่งท้าทายและโอกาสที่กระทบต่อความถาวรและยั่งยืน

นวัตกรรมการปรับปรุงและการเปลี่ยนแปลงองค์กรธุรกิจ(Innovation) เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการเป็น Living Organism

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ต้องพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ต้องสามารถปรับตัวและปรับปรุงตัวเองอย่างต่อเนื่อง ธนินท์ เจียรวนนท์ ใช้สิ่งที่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ อ้างถึงเสมอคือคำว่า Innovation หรือ นวัตกรรม  ซึ่งในความหมายของคำนี้มีต้นกำเนิดมาจากคำภาษาลาตินที่มีความหมายสามขั้นด้วยกันคือ Renew  ทำต่อ  Invent : ประดิษฐ์  และ Change  : เปลี่ยนแปลง

ท่ามกลางโลกยุคดิจิตอลที่ไร้พรมแดน การพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน และแบบพลิกแผ่นดิน เพราะในยุคโลกาภิวัตน์โลกแห่งธุรกิจ มีการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากมีการแย่งชิงตลาด วัตถุดิบ และทรัพยากรมนุษย์ เห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่เทคโนโลยีตลอดจนการพลิกโฉมหน้าศักยภาพของประเทศขนาดใหญ่ อย่างเช่น จีน ธนินท์ เจียรวนนท์ เล็งเห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้าน Innovation ในการจัดการทั้งด้านการปฏิรูปการพัฒนาและการเสริมสร้างพฤติกรรม เป็นสิ่งซึ่งต้องถือเป็นค่านิยมพื้นฐาน (Core Value) ที่สำคัญเชื่อมโยงธุรกิจการสื่อสาร การค้าปลีก หรือเกษตรอุตสาหกรรม ฯลฯ

การพัฒนานวัตกรรมถือเป็นตัวหารร่วม(Common Denominator) เป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจต้องมีต้นทุนไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรืออุปกรณ์หรือระบบ แต่ในระยะยาวการลงทุนดังกล่าวไม่ใช่ เพียงคุ้มทุน” เพราะมันหมายถึงการพัฒนาองค์กรเพื่อให้อยู่รอดอย่างมีประสิทธิภาพสูงเพียบพร้อมไปด้วยระบบ อุปกรณ์ และทรัพยากรมนุษย์ที่รับมือกับความท้าทายของการแข่งขันในภาวะของโลกาภิวัตน์

อีกหนึ่งองค์ประกอบของ Living Organism คือการสร้าง “Genuity”  คำดังกล่าวยืมมาจากคำของฝ่ายบริหารเครือบริษัทข้ามชาติ ซึ่งผนวก จากคำในภาษาอังกฤษสามคำคือ Genuine , Authentic และ Original ซึ่งมีความหมายว่า ของแท้ 

ธนินท์ เจียรวนนท์ เน้นความสำคัญของการสร้าง ยี่ห้อ” (Brand) เพราะมองว่า Brand คือคุณภาพ คือ ของแท้ ไม่ใช่ของที่ลอกเลียนแบบหรือโคลนนิ่ง(Cloning)กันได้ ทั้งนี้เพราะ Brand เป็นพื้นฐานของความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจและการยอมรับต่อคุณภาพของสินค้าและบริการของธุรกิจ ในแง่ของมูลค่าการตอบแทน  ระบบการบริหารจัดการต้องเป็นส่วนสำคัญอันยิ่งยวดที่จะทำสิ่งดังกล่าวให้เป็นความจริงได้ว่าธุรกิจต้องสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคและลูกค้าว่าจะได้สิ่งตอบแทนที่คุ้มกับการลงทุนและความไว้เนื้อเชื่อใจฉันท์ญาติมิตรตลอดไปและเป็นที่ยอมรับว่าเป็น ของแท้ที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง

            ในห้วงเวลาที่ก้าวสู่ปี เถาะ” (กระต่าย ) ธนินท์  เจียรวนนท์ เสนอแนวความคิดที่น่าสนใจ ว่า
ท่ามกลางภาวะของโลกที่ผันผวนและไม่แน่นอน ยังเต็มไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ

            ความสามารถในการเปลี่ยน “วิกฤต”  เป็น “ โอกาส” จะตกอยู่กับองค์กรธุรกิจที่บริหารจัดการด้วยความคล่องแคล่วและมั่นคงควบคู่กันไป สมดั่งสัญลักษณ์ของกระต่ายที่คล่องแคล่วว่องไว  กับ เต่า” ที่แข็งแรงมั่นคง

ธนินท์  เจียรวนนท์ เคยใช้คำเปรียบเทียบว่า ปลาใหญ่แพ้ปลาไว มาก่อน แต่ในครั้งนี้กูรูด้านการบริหารจัดการแห่งซีกโลกตะวันออกใช้คำเปรียบเทียบว่าธุรกิจต้องเป็น กระต่ายบวกเต่า”  กล่าวคือ รู้ก่อน ทำก่อน ทำเร็ว ถือว่าเป็นแนวความคิดทางการบริหารจัดการที่ยิ่งใหญ่อันจะอำนวยให้         ธนินท์  เจียรวนนท์ นำพาเครือเจริญโภคภัณฑ์เดินหน้าไปสู่เส้นชัย ครบอายุ 100 ปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ในฐานะเป็นองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่ของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น