4.22.2555

แนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคม



ISO 26000 มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ตอนที่ 10)

 
โดย ไทยแลนด์อินดัสตรี้ดอทคอม  วันที่ 2012-03-23 09:51:38 ผู้อ่าน 151 คน
Share
 
  
 
กิตติพงศ์  จิรวัสวงศ์
แนวทางการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคม          ในหัวข้อนี้ จะอธิบายถึงแนวทางในการนำความรับผิดชอบต่อสังคมมาสู่การปฏิบัติในองค์กร ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งกับระบบการบริหารจัดการ กระบวนการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร โดยในบางกิจกรรมอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ หรือมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในขอบเขตที่กว้างขึ้น ในรูปที่ 1 จะแสดงถึงแนวทางในการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมมาใช้ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
รูปที่ 1 แสดงถึงการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วทั้งองค์กร
ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคม           ในขั้นตอนแรกของการดำเนินการในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร จะเป็นการวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรว่ามีความสัมพันธ์กับความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะช่วยให้องค์กรสามารถระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมในแต่ละหัวข้อหลัก และระบุถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ขององค์กรด้วย ทั้งนี้ การทบทวน ควรจะครอบคลุมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
          * ประเภท วัตถุประสงค์ ลักษณะของธุรกิจ และขนาดขององค์กร
          * สถานที่ตั้งขององค์กรที่มีการดำเนินการอยู่ รวมถึงกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม และคุณลักษณะต่าง ๆ ในพื้นที่ของการดำเนินการในประเด็นทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
          * ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในอดีต
          * คุณลักษณะต่าง ๆ ขององค์กรด้านแรงงาน หรือลูกจ้าง รวมถึงแรงงานรับเหมา
          * องค์กรในภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่องค์กรได้เข้าไปมีส่วนร่วม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มีการดำเนินการโดยองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ และวิธีปฏิบัติงาน หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ได้รับการส่งเสริมโดยองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
          * พันธกิจ วิสัยทัศน์ หลักการต่าง ๆ และแนวปฏิบัติขององค์กร
          * ข้อกังวลต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม
          * โครงสร้างต่าง ๆ และลักษณะของการตัดสินใจภายในองค์กร
          * ห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร
          สิ่งสำคัญที่องค์กรควรจะตระหนักถึงคือ ทัศนคติ ระดับของความมุ่งมั่น และความเข้าใจของผู้นำองค์กร ที่มีต่อความรับผิดชอบต่อสังคมในหลักการ และหัวข้อหลักต่าง ๆ รวมถึงประโยชน์ของการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้การบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิผล รวมถึงสามารถขยายการดำเนินการภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรด้วย
การทำความเข้าใจความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร           ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะประกอบด้วย
          * การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม 
          * การพิจารณาความสัมพันธ์ของหัวข้อหลัก
          * การพิจารณาความสำคัญ
          * ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรและบทบาทขององค์กรตามขอบเขตอิทธิพล และ
          * การกำหนดความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ
 
การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม          การพิจารณาบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างละเอียดครบถ้วน และเป็นการดำเนินการในเชิงรุก เพื่อชี้บ่งถึงผลกระทบที่ไม่ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยง และบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น
นอกจากนั้น การพิจารณา ยังเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลขององค์กรที่มีต่อพฤติกรรมขององค์กรอื่น ๆ หากพบว่าองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้น จะเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือในด้านอื่น ๆ ที่องค์กรอาจมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
          ทั้งนี้ องค์กรควรจะพิจารณาไปถึงบริบทของประเทศที่องค์กรเข้าไปดำเนินการ หรือในที่ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ ทั้งที่อาจจะเกิดขึ้น หรือได้เกิดขึ้นแล้วจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเองด้วย นอกจากนั้น ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่จะตามมาในด้านลบ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของหน่วยงานหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรด้วยเช่นเดียวกัน 
          กระบวนการพิจารณา ควรเหมาะสมกับขนาด และสถานการณ์ขององค์กร ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
          * นโยบายต่าง ๆ ขององค์กรที่เชื่อมโยงเข้ากับหัวข้อหลักของความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภายในองค์กร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับองค์กร 
          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการประเมินถึงผลกระทบที่มีต่อเป้าประสงค์ของนโยบายจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และที่วางแผนจะดำเนินการต่อไป 
          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการบูรณาการหัวข้อหลักต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร 
          * วิธีการที่จะนำมาใช้ในการติดตามผลการดำเนินการตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนลำดับของความสำคัญ และแนวทางการปฏิบัติอื่น ๆ 
          * การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการตัดสินใจ และการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร
          นอกเหนือจากการประเมินตนเองตามประเด็นต่าง ๆ แล้ว ในบางกรณี องค์กรอาจจะต้องใช้อิทธิพลที่มีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมขององค์กรอื่น ๆ เพื่อเป็นการยกระดับของการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรเหล่านั้นให้ดีขึ้นด้วย
การพิจารณาความสัมพันธ์           ในทุก ๆ องค์กรจะมีความสัมพันธ์กับหัวข้อหลักต่าง ๆ ทุกหัวข้อ แต่อาจจะมีความสัมพันธ์กับประเด็นต่าง ๆ บางประเด็นเท่านั้น ดังนั้น องค์กรควรจะมีการทบทวนหัวข้อหลักต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสัมพันธ์กับองค์กร โดยองค์กรควรจะ
          * แจกแจงรายการของกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรที่มีอยู่ทั้งหมด 
          * ระบุถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
          * ระบุถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการดำเนินการขององค์กรเอง และเป็นขององค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กร รวมถึงการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้ส่งมอบและผู้รับเหมา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรด้วย
          * พิจารณาว่ามีหัวข้อหลัก และมีประเด็นใดบ้างที่จะเกี่ยวข้อง เมื่อองค์กร หรือองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตอิทธิพลขององค์กร และภายในห่วงโซ่คุณค่าเหล่านี้ มีการดำเนินการ โดยพิจารณาจากข้อกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องด้วย
          * ตรวจสอบขอบเขตของผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          * ตรวจสอบเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประเด็นต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ การดำเนินการ และแผนงานต่างๆ ขององค์กร
          * ระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กรที่ทำเป็นประจำ และที่อาจกระทำเป็นครั้งคราวภายใต้สถานการณ์เฉพาะต่าง ๆ
          ในบางกรณีองค์กรบางแห่งอาจจะเห็นว่า การที่องค์กรมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับที่กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงหัวข้อหลักต่าง ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว ก็อาจจะเพียงพอ อย่างไรก็ตาม การที่ได้มีการทบทวนเกี่ยวกับหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจจะพบว่า อาจจะยังมีบางประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม หรือกฎหมายมีการควบคุมแล้ว แต่การบังคับใช้อาจจะยังไม่เหมาะสมเพียงพอ หรือกฎหมายมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หรือรายละเอียดไม่เพียงพอก็ได้
          แม้ว่าหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ จะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ในบางกรณี ก็อาจจะมีการดำเนินการที่เหนือกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดค่าควบคุมการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ หรือทางน้ำไว้ที่ปริมาณ หรือระดับหนึ่ง แต่องค์กรควรจะนำวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้เป็นแนวทางในการลดการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ดีกว่าที่กำหนดไว้ หรือดำเนินการเปลี่ยนแปลงกระบวนการต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อขจัดการปลดปล่อยมลพิษดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น หรือให้หมดไปอย่างสมบูรณ์
การพิจารณาความสำคัญ           เมื่อองค์กรได้ทำการระบุถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและการดำเนินการต่างๆ ขององค์กรแล้ว ขั้นตอนถัดไป จะเป็นการพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้อย่างละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อการตัดสินใจว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสำคัญสูงสุดต่อองค์กร โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะครอบคลุมถึง
          * ขอบเขตของผลกระทบในแต่ละประเด็นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          * ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการ หรือจากการที่ไม่ได้ดำเนินการต่อประเด็นต่าง ๆ
          * ระดับของข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง
          * การระบุถึงความคาดหวังทางด้านสังคมต่อการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่าง ๆ เหล่านั้น
          โดยทั่วไป ประเด็นต่าง ๆ ที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ คือการที่ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย มีการปฏิบัติตามแนวทางของสากลได้ไม่สม่ำเสมอ มีแนวโน้มที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือสุขภาพ และการปฏิบัติต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม
ขอบเขตอิทธิพลขององค์กรและบทบาทขององค์กรตามขอบเขตอิทธิพล           องค์กรสามารถใช้อิทธิพลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่
          * การเป็นเจ้าของและการกำกับดูแล รวมถึงลักษณะและขอบเขตของการเป็นเจ้าของ หรือการเป็นผู้แทนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลองค์กรที่เกี่ยวข้อง
          * ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ รวมถึงขอบเขตของความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ และระดับความสำคัญของความสัมพันธ์สำหรับแต่ละองค์กร 
          * อำนาจตามกฎหมาย การเมือง เช่น การมีข้อตกลง หรือสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หรือการที่องค์กรได้รับอนุญาตตามกฎหมายในการไปบังคับองค์กรอื่น ๆ ให้มีพฤติกรรมตามที่ต้องการ 
          * ความคิดเห็นสาธารณะ รวมถึงความสามารถขององค์กรในการมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะ และผลกระทบจากความคิดเห็นสาธารณะที่มีต่อผู้อื่น ซึ่งองค์กรพยายามเข้าไปมีอิทธิพล
          ทั้งนี้ การใช้อิทธิพลขององค์กรอาจขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย รวมถึงขอบเขตทางกายภาพ ขอบข่าย ระยะเวลา และความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ โดยองค์กรสามารถใช้อิทธิพลของตนเองกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือเพื่อลดผลกระทบที่ไม่ดี หรือทั้งสองอย่าง
          วิธีการต่าง ๆ ในการใช้อิทธิพล จะประกอบด้วย
          * การกำหนดเงื่อนไขในข้อสัญญา หรือสิ่งจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ
          * การประกาศต่อสาธารณะโดยองค์กร
          * การสานสัมพันธ์กับชุมชน ผู้นำทางการเมือง และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ
          * การตัดสินใจในการลงทุน
          * การแบ่งปันความรู้และสารสนเทศ
          * การดำเนินการในโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน
          * การโน้มน้าวชักจูงที่ทำอย่างมีความรับผิดชอบ และการใช้ความสัมพันธ์กับสื่อมวลชน
          * การสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติที่ดี
          * การสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับสมาคมของกลุ่มธุรกิจเดียวกัน องค์กรต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ
          ในการใช้อิทธิพลขององค์กร ควรยึดแนวทางของการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม รวมถึงหลักการและแนวปฏิบัติอื่น ๆ ของความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่เสมอ เมื่อมีการใช้อิทธิพลขององค์กร ในขั้นแรกองค์กรควรพิจารณาถึงการสานสัมพันธ์ โดยมีการสานเสวนาที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปรับปรุงจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หากการสานเสวนาไม่ประสบความสำเร็จ องค์กรอาจพิจารณาการดำเนินการด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนลักษณะของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นด้วย  
การกำหนดความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ           องค์กรควรกำหนดลำดับความสำคัญของหัวข้อหลัก และประเด็นต่าง ๆ ที่ได้มีการพิจารณาแล้วว่ามีนัยสำคัญ และมีความสัมพันธ์กับการดำเนินการขององค์กร นอกจากนั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดลำดับความสำคัญด้วย ทั้งนี้ลำดับความสำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
          ในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับประเด็นใดในลำดับต้น ๆ องค์กรควรจะพิจารณาถึง
          * ผลการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย มาตรฐานระหว่างประเทศ การปฏิบัติตามแนวทางของสากล การปฏิบัติที่ทันสมัย และแนวทางการปฏิบัติที่ดี
          * ประเด็นที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถขององค์กรในการบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ 
          * ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง โดยเปรียบเทียบกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการดำเนินการ
          * ระยะเวลาที่จะบรรลุผลต่าง ๆ ตามที่ต้องการ
          * ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่ได้ดำเนินการอย่างทันท่วงที
          * ความยากง่าย และความรวดเร็วในทางปฏิบัติ ในการสร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้มีการดำเนินการ เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมภายในองค์กร
(อ่านต่อตอนถัดไป) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น