4.22.2555

มาตรฐานสีเขียว (Green Standard)


มาตรฐานสีเขียว (Green Standard)

 
โดย ไทยแลนด์อินดัสตรี้ดอทคอม  วันที่ 2010-07-05 18:51:19 ผู้อ่าน 1300 คน
Share
 
  
 
กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์kitroj@yahoo.com
.
.
ในปัจจุบัน ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการพัฒนาขึ้นจากความสนใจในบางองค์กร มาสู่ความรับผิดชอบขององค์กรส่วนใหญ่ในการดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงการพัฒนาสินค้าและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุก ๆ ภาคส่วน รวมถึงทั่วทั้งโลกต่างก็ได้รับผลกระทบที่นับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย
.
ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้สะท้อนออกมาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การหาแนวทางในการชะลอปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก การส่งเสริมให้มีการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสากลในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
.
ในการพัฒนามาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นมาตรฐานในระดับองค์กร ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ รวมทั้งที่เป็นมาตรฐานด้านการบริหารจัดการ มาตรฐานเฉพาะด้าน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการบริการ หรือจะเป็นมาตรฐานการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
.
ถ้าหากพูดถึงมาตรฐานในระดับสากลระหว่างประเทศ มาตรฐานที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ มาตรฐาน ISO ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์กรด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า International Organization for Standardization ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทนที่ดูแลด้านมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นตัวแทนทำหน้าที่สมาชิกในองค์กรแห่งนี้ด้วย
.
มาตรฐานที่มีการจัดพิมพ์แล้ว
มาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่รู้จักกันดี และมีองค์กรจำนวนมากที่นำไปดำเนินการ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานนี้กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ มาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Systems-Requirements with Guidance for Use) ที่อธิบายถึงข้อกำหนดต่าง ๆ สำหรับองค์กร
.
เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่ากิจกรรม หรือการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์กร ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และการปรับปรุงความสามารถขององค์กรในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล
.
ปัจจุบัน มีองค์กรจำนวนมากที่มีการนำมาตรฐาน ISO 14001 นี้ไปดำเนินการ และได้รับการรับรอง ไม่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงทั้งภาคบริการ ภาคการศึกษา ภาคขนส่ง ภาคสาธารณสุข รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ในภาครัฐด้วย
.
มาตรฐาน ISO 14001 ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะทำงาน ISO/TC 207 ของ ISO นับตั้งแต่ฉบับแรกที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1996 จนมาถึงฉบับล่าสุดในปี 2004 โดยเนื้อหาหลัก ๆ ของมาตรฐานนี้ จะประกอบด้วย 5 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม การวางแผน การนำไปปฏิบัติและดำเนินการ การตรวจสอบและแก้ไข และการทบทวนโดยฝ่ายบริหารขององค์กร
.
นอกเหนือจากมาตรฐาน ISO 14001 ที่อธิบายถึงข้อกำหนดของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมาตรฐานที่เป็นคู่กันได้ออกมาเสริมการดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 14001 ได้แก่
.
มาตรฐาน ISO 14004 (Environmental Management Systems-General Guidelines on Principles, Systems and Support Techniques) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน ระบบงาน และเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO 14001 ได้
.
ในขณะที่การตรวจประเมินระบบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Audit จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยในการประเมินถึงความเหมาะสม ความเพียงพอ และความมีประสิทธิผลของระบบที่มีการจัดทำขึ้น เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการแก้ไข การป้องกัน และการปรับปรุงพัฒนาระบบให้ดีขึ้นต่อไป
.
โดยได้มีการจัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานสากลที่เรียกว่ามาตรฐาน ISO 19011 (Guidelines for Quality and/or Environmental Management Systems Auditing) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงกระบวนการในการตรวจประเมิน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และระบบบริหารคุณภาพ
.
ในปี 2009 ทางคณะทำงาน ISO/TC 207 ยังได้มีการออกมาตรฐาน ISO 14050 (Environmental Management-Vocabulary) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และความเข้าใจที่ดีขึ้น ในการนำข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
.
นอกจากมาตรฐาน ISO 14001 ที่มีการระบุถึงการกำหนดลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects) แล้ว ทาง ISO ยังได้มีการพัฒนามาตรฐานที่ช่วยในการกำหนดลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นมาอีก โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment-LCA)
.
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการระบุ และประเมินลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งของผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งจะทำการวิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบ การจัดทำ การนำไปใช้งาน และการทำลาย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งนี้ มาตรฐานที่เกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิต ได้มีการจัดทำขึ้นมาหลายมาตรฐานด้วยกัน ประกอบด้วย
.
• ISO 14040: 2006 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Principles and Framework) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน และกรอบการดำเนินงานสำหรับการประเมินวัฏจักรชีวิต
.
• ISO 14044: 2006 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Requirements and Guidelines) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายข้อกำหนด และแนวทางดำเนินงานในการประเมินวัฏจักรชีวิต
.
• ISO/TR 14047: 2003 (Environmental Management-Life Cycle Impact Assessment-Example of Application of ISO 14042) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายตัวอย่างของการดำเนินงานตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14042 (ยกเลิกการใช้งานแล้ว) ในการประเมินผลกระทบของวัฏจักรชีวิต
.
• ISO/TR 14048: 2002 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Data Documentation Format) จะเป็นมาตรฐานที่ระบุถึงรูปแบบของเอกสารในการประเมินวัฏจักรชีวิต
.
• ISO/TR 14049: 2000 (Environmental Management-Life Cycle Assessment-Example of Application of ISO 14041 to Goal and Scope Definition and Inventory Analysis) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายตัวอย่างของการดำเนินงานตามข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO 14041 (ยกเลิกการใช้งานแล้ว) ในการประเมินวัฏจักรชีวิต
.
ในขณะที่มาตรฐาน ISO 14015: 2001 (Environmental Management-Environmental Assessment of Sites and Organization (EASO)) จะเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อธิบายถึงแนวทาง และกระบวนการในการตรวจประเมินสถานที่ และองค์กรในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรฐาน ISO 14031: 1999 (Environmental Management-Environmental Performance Evaluation-Guidelines) จะเป็นมาตรฐานที่นำมาใช้ในการประเมินสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) ในรูปแบบต่าง ๆ
.
นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐานที่เกี่ยวกับฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Label) ซึ่งประกอบด้วย
• ISO 14020: 2000 (Environmental Labels and Declarations-General Principles) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการทั่วไปของฉลากสิ่งแวดล้อม และคำประกาศสิ่งแวดล้อม
.
• ISO 14021: 1999 (Environmental Labels and Declarations-Self-Declared Environmental Claims (Type II Environmental Labeling) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 2 (การประกาศรับรองตนเองด้านสิ่งแวดล้อม)
.
• ISO 14024: 1999 (Environmental Labels and Declarations-Type I Environmental Labeling-Principles and Procedures) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 1
.
• ISO 14025: 2006 (Environmental Labels and Declarations-Type III Environmental Declarations-Principles and Procedures) จะเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับหลักการและขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับฉลากสิ่งแวดล้อม ประเภทที่ 3
.
รวมถึงยังมีการจัดทำมาตรฐาน ISO 14063: 2006 (Environmental Management-Environmental Communication-Guideline and Examples) ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางในการสื่อสารทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
.
นอกจากนั้น คณะทำงาน ISO/TC 207 ยังได้มีการจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการควบคุม และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากในปัจจุบัน โดยกำหนดเป็นมาตรฐาน ISO 14064 ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
.
• ISO 14064-1: 2006 (Greenhouse Gases-Part 1: Specification with Guidance at the Organization Level for Quantification and Reporting of Greenhouse Gas Emissions and Removals) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนดเฉพาะและแนวปฏิบัติในระดับองค์กร สำหรับการวัดปริมาณ การติดตามตรวจสอบ และการจัดทำรายงานการปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
.
• ISO 14064-2: 2006 (Greenhouse Gases-Part 2: Specification with Guidance at the Project Level for Quantification, Monitoring and Reporting of Greenhouse Gas Emission Reductions or Removal Enhancements) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนดเฉพาะและแนวปฏิบัติในระดับโครงการ สำหรับการวัดปริมาณ การติดตามตรวจสอบ และการจัดทำรายงานการปล่อยและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
.
• ISO 14064-3: 2006 (Greenhouse Gases-Part 3: Specification with Guidance for the Validation and Verification of Greenhouse Gas Assertions) จะเป็นมาตรฐานที่อธิบายถึงข้อกำหนด และแนวปฏิบัติสำหรับการทวนสอบและการยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจก
.
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ทำหน้าที่ในการทวนสอบ และยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจกเพื่อการรับรอง ออกมาเป็นมาตรฐาน ISO 14065: 2007 (Greenhouse Gases-Requirements for Greenhouse Gas Validation and Verification Bodies for Use in Accreditation or Other Forms of Recognition)
.
ในส่วนของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังได้มีการออกมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ มาตรฐาน ISO/TR 14062: 2002 (Environmental Management-Integrating Environmental Aspects into Product Design and Development) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ในการบูรณาการลักษณะปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมาตรฐาน
.
ISO Guide 64: 2008 (Guide for Addressing Environmental Issues in Product Standards) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการกำหนดประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมในมาตรฐานผลิตภัณฑ์
.
มาตรฐานอยู่ในระหว่างการจัดทำ
นอกเหนือจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีอีกหลายมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในระหว่างการจัดทำ และรอการประกาศใช้ในเร็ววันนี้ โดยคณะทำงาน ISO/TC 207 ซึ่งรับผิดชอบดูแลมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม
.
ISO/DIS 14005 (Environmental Management Systems-Guidelines for the Phased Implementation of an Environmental Management System, Including the use of Environmental Performance Evaluation) จะเป็นมาตรฐานที่ระบุแนวทางสำหรับการดำเนินงานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงแนวทางในการประเมินสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Evaluation)
.
ISO/AWI 14033 (Environmental Management-Quantitative Environmental Information-Guidelines and Examples) จะเป็นมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อธิบายถึงแนวทาง และตัวอย่างของข้อมูลสารสนเทศสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณ
.
ISO/CD 14006 (Environmental Management Systems-Guidelines on Eco-design) จะเป็นมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่อธิบายถึงแนวทางสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ หรือ Eco-design
.
ISO/WD 14045 (Eco-efficiency Assessment-Principles and Requirements) โดยมาตรฐาน ISO 14045 จะอธิบายถึงหลักการพื้นฐาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการประเมินความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ (Eco-efficiency Assessment) โดยความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจจะเกี่ยวกับสมรรถนะทางด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า ซึ่งมาตรฐานนี้ จะระบุแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายสำหรับการวัดความมีประสิทธิภาพเชิงนิเวศน์เศรษฐกิจ
.
ISO/CD 14051 (Environmental Management-Material Flow Cost Accounting-General Principles and Framework) โดยมาตรฐาน ISO 14051 จะเป็นแนวปฏิบัติ และกรอบการดำเนินงานสำหรับ Material Flow Cost Accounting (MFCA) โดย MFCA จะเป็นเครื่องมือในการบริหารงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล โดยเน้นไปที่กระบวนการผลิตและการกระจายสินค้า เพื่อนำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากร และต้นทุนวัสดุที่ใช้
.
ทั้งนี้ MFCA จะเป็นการวัดการไหลและการจัดเก็บวัตถุดิบ และพลังงานที่ใช้ภายในองค์กรจากหน่วยทางด้านกายภาพ (เช่น น้ำหนัก ขีดความสามารถ ปริมาณ และอื่น ๆ) รวมถึงทำการประเมินในรูปของต้นทุนการผลิต รวมถึง MFCA ยังใช้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับการทำ Environmental Management Accounting (EMA) ด้วย
.
นอกจากนั้น ทาง ISO ยังได้มีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับคาร์บอน ฟุตปริ๊นต์ โดยอยู่ในระหว่างการร่างของคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย
• ISO/WD 14067-1 (Carbon Footprint of Products-Part 1: Quantification) เป็นมาตรฐานคาร์บอนฟุตปริ๊นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับการวัดปริมาณ
.
• ISO/WD 14067-2 (Carbon Footprint of Products-Part 2: Communication) มาตรฐานคาร์บอนฟุตปริ๊นต์สำหรับผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 2 เกี่ยวกับการสื่อสาร
.
ISO/AWI 14069 (GHG-Quantification and Reporting of GHG Emissions for Organizations (Carbon Footprint of Organization)-Guidance for the Application of ISO 14064-1) จะเป็นมาตรฐานสำหรับการวัดปริมาณ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กร โดยจะแนวปฏิบัติสำหรับการประยุกต์ใช้งานมาตรฐาน ISO 14064
.
ISO/CD 14066 (Greenhouse Gases-Competency Requirements for Greenhouse Gas Validators and Verifiers Document) จะเป็นข้อกำหนดที่ระบุความสามารถที่จำเป็นสำหรับผู้ทำหน้าที่ทวนสอบ และยืนยันความถูกต้องของก๊าซเรือนกระจก
.
จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่ามาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งที่ประกาศใช้แล้ว และจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ ครอบคลุมในทุก ๆ ส่วนที่องค์กรสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการได้
.
นอกจากนั้น ยังมีมาตรฐานในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มาตรฐาน ISO ที่มีการพัฒนาขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในลักษณะของมาตรฐานระดับชาติ มาตรฐานในกลุ่มประเทศ หรือมาตรฐานท้องถิ่นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถนำมาศึกษา เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น