4.22.2555

HAPPY MODEL สร้างสุขให้ ทรัพยากรมนุษย์ จุดเริ่มแรกสมาชิกคุณภาพ AEC

HAPPY MODEL สร้างสุขให้ ทรัพยากรมนุษย์ จุดเริ่มแรกสมาชิกคุณภาพ AEC

อีกเพียง 3 ปี เท่านั้น!!! ประเทศไทยก็จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับภูมิภาคอาเซียน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ด้วยการเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

ในส่วนของระบบเศรษฐกิจที่ถือเป็นคีย์แมนในการขับเคลื่อนประเทศ ก็กำลังเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างยิ่งยวด เพื่อให้การเปลี่ยนฐานการผลิตเข้าสู่โหมดของ AEC สร้างคุณประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ ให้แก่ ประเทศไทย และน่าทึ่งว่ามุมมองของการปรับเปลี่ยนเตรียมพร้อมนี้ มิได้มุ่งหวังแต่การทำกำไรหรือมุ่งเน้นแต่จะสร้างสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่หากยังคำนึงถึงการพัฒนาฐานเศรษฐกิจในรูปแบบ องค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ร่วมด้วย

โดยงานนี้หัวเรือใหญ่จากภาคธุรกิจอย่าง พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิพล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบอกไว้ว่า การเข้าสู่การเป็นสมาชิก AEC จำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อม เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างสูงสุด แต่กระนั้น เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบโดยตรงในการเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นได้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องหากลไกวิธีการให้การแข่งขันที่รุนแรงนี้ ไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่มีคุณภาพและฝีมือ ส่วนตัวคิดว่าหลักคิดแบบองค์กรแห่งความสุขหรือแฮปปี้ เวิร์คเพลส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) จะเป็นเครื่องมือตอบโจทย์ในจุดนี้ได้

ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาอุตสาหกรรม สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นระบบการผลิตที่มีพนักงาน เจ้าหน้าที่ และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงานอาทิตย์ละ 5-6 วัน วันละ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่า ทำให้บรรยากาศในการทำงานไม่น่าพิศมัย เนื่องจากเน้นการแข่งขันที่เร่งรีบและกดดันเป็นหลัก ทำให้ผู้คนไม่อยากตื่นเช้ามาทำงานสักเท่าไรนัก หรือถ้ามาทำก็ทำแบบซังกะตายไปอย่างนั้น

ทว่า หลังจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้ร่วมมือกับ สสส. จัดทำโครงการแฮปปี้ เวิร์กเพลส กับองค์กรต่างๆ ผลที่ออกมานั้นดีเกินคาด เพราะมุมมองต่อแรงงานนั้นเปลี่ยนไป คือไม่ได้มองแค่เชิงของรายได้หรือจำนวนการผลิต แต่มองในเชิงฝีมือ การให้ใจ การสร้างความสุขในที่ทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ตอบกลับมาก็คือพนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ความร่วมมือกับองค์กรจนบริษัทเจริญรุดหน้า ซึ่งนั่นหมายถึงการขับเคลื่อนระดับประเทศ

"ภายใต้การเปิดเสรี AEC ที่อาจทำให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ขณะที่ทุนแรงงานหรือมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จและอยู่รอดขององค์กรท่ามกลางกระแสการค้าเสรี ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปิดเสรี AEC" พยุงศักดิ์ ระบุ

เขายังบอกต่อด้วยว่า ผู้นำองค์กรในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการสร้างความสุขในที่ทำงาน ต้องส่งเสริมการทำงานและกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการทำงาน การสร้างขวัญกำลังใจ รวมถึงโอกาสและความพึงพอใจให้แก่พนักงานของตนเอง จึงเป็นบทสรุปได้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์จำเป็นต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับวิสัยทัศน์ของผู้นำในอันที่จะสร้างความสุขในที่ทำงาน

"ผมมองว่าแฮปปี้ เวิร์กเพลส เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างความสุขและความสำเร็จ องค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลสามารถริเริ่มความสุขแก่พนักงานได้เพียงแค่กล้าปรับทัศนคติเรื่องคน และมีการลงทุนเพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวคน เพื่อให้แรงงานเหล่านี้นำความรู้และทักษะที่เพิ่มพูน มาพัฒนาผลิตภาพแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน อันจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนท่ามกลางการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีภายใต้กรอบ AEC จึงเป็นความท้าทายไม่น้อยว่า องค์กรหรือบริษัทของไทยจะรักษาแรงงานฝีมือที่มีอยู่ไว้ได้อย่างไร" พยุงศักดิ์ ให้ข้อคิดเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นอกจากการนำเอาแนวคิดแฮปปี้ เวิร์กเพลส เข้าสู่ระบบการทำให้เศรษฐกิจไทยมุ่งหน้าสู่ AEC อย่างมีคุณภาพแล้ว ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังได้คลอด 5 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนชาติสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ AEC ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมหารือ หรือแลกเปลี่ยนการเยือนของภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศสมาชิกอาเซียน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เน้นการปรับตัวและการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC โดยเร่งการผลักดันการกำหนดมาตรฐานสินค้าอาเซียน ควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อป้องกันการนำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เตรียมความพร้อมด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานใน AEC ด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้อยู่ในระดับสากล และผลักดันในภาษาอังกฤษภาษาทางการภาษาที่ 2 ของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทางกระทรวงคมนาคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรม และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างหรือรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต แรงงาน วัตถุดิบ หรือต้นทุนโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยศึกษาจากการวิจัยข้อมูลเชิงลึกด้านกฎหมาย กฎระเบียทางการค้าการลงทุน และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน "คน" สินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดขององค์กร ...และการจะให้คนทำงานอย่างมีความสุขภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมตามแนวคิด แฮปปี้ เวิร์กเพลส ได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของทั้งผู้นำสูงสุดขององค์กร ฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ และตัวพนักงานขององค์กรเอง ที่จะร่วมใจกับการเปลี่ยนที่ทำงานให้เป็นบ้านหลังที่สอง และสร้างสรรค์ให้เป็นองค์กรแห่งความสุขอย่างแท้จริง

สนใจแนวคิด "องค์กรแห่งความสุข หรือ Happy Work Place" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฝากบอกว่าไม่ควรพลาดงาน Happy Workplace Forum:5 Apps to happy Workplace3.0 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 มี.ค.2555 ณ ห้องบอลลูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมwww.thaihealth.or.th



ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- พฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 00:00:40 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น