9.02.2555

ความเป็นผู้นำ

Post Today - สังคมปัจจุบันมีความต้องการบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำมีมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกที่มีการแข่งขันกันรุนแรงเช่นนี้ ใครดีกว่าเก่งกว่าย่อมได้เปรียบ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี จึงได้จัดงานเปิดตัวหนังสือแนว How to เรื่อง หลัก 5 ประการสู่การเป็นผู้นำ ซึ่งเขียนโดย พอล เจ. เมเยอร์ และแรนดี้ สเลกตา โดยในงานนี้ จุมพจน์ เชื้อสาย ผู้แปลและผู้อำนวยการสถาบัน Leadership Management International (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์กร ได้มาพูดคุยถึงเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ ซึ่งในหลายประเด็นมีความน่าสนใจ และมีประโยชน์ในการไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานไม่น้อย
 ทำไมต้องมีความเป็นผู้นำ
เมื่อพูดถึงภาวะความเป็นผู้นำ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องของคนในระดับหัวหน้าหรือระดับผู้บริหารเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วความเป็นผู้นำไม่ได้เป็นเรื่องจำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มเท่านั้น คือไม่ต้องรอให้เป็นผู้บริหารแล้วถึงจะต้องมีความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำมีอยู่ในตัวทุกๆ คน เพราะอย่างน้อยที่สุดทุกคนก็ล้วนแต่ต้องเป็นผู้นำให้ตนเอง โดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หากคนเราไม่สามารถเป็นผู้นำให้ตนเองได้แล้ว เราก็จะตกเป็นเป้านิ่งที่ถูกกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมจู่โจม ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นผู้นำได้ ขอเพียงคนคนนั้นมีความตั้งใจจริง และมีความกล้าหาญพอที่จะก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้ที่พร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
จุมพจน์ ยกตัวอย่างว่าครั้งหนึ่ง เขาไปรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารในโรงแรมแห่งหนึ่ง หลังจากที่รับประทานเสร็จ เขาไปยืนรอรถที่ประตูโรงแรม พนักงานเปิดประตูเข้ามาถามเขาว่า กำลังรอรถอยู่หรือครับ อีก 5 นาที รถก็จะมาถึงแล้ว พนักงานคนนั้นได้ถามเขาว่า ท่านมารับประทานอาหารที่ห้องอาหารของเราใช่ไหม ไม่ทราบว่าท่านทราบหรือยังว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีโปรโมชันพิเศษ มา 4 ท่าน จ่ายเพียง 3 ท่าน จุมพจน์ก็ตอบไปว่า ไม่ทราบเลย กัปตันที่ห้องอาหารก็ไม่ได้บอก พนักงานเปิดประตูจึงได้ถามว่า เขาสนใจจะจองโต๊ะไว้หรือไม่และขอนามบัตรของจุมพจน์ไว้ด้วย เพื่อให้ทางห้องอาหารติดต่อกลับไป
ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นพนักงานเปิดประตู เขาคนนี้ก็สามารถมีความเป็นผู้นำได้ เพราะเขาสามารถคิดเองได้ รู้ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และตอบสนองเป้าหมายของโรงแรมได้ เขาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองต่อไปได้ในอนาคต
เริ่มต้นสร้างผู้นำ
หากต้องการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำให้กับพนักงานทุกคนในองค์กร สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปรับเปลี่ยนแนวคิดพีระมิดของระดับการบริหารงาน ภาพโดยทั่วไปของระดับอำนาจในองค์กรนั้นออกมาในรูปพีระมิด โดยพนักงานระดับที่คอยให้บริการนั้นจะอยู่ในฐานล่างสุด ถัดขึ้นมาคือฝ่ายการผลิต ฝ่ายจัดจำหน่าย ฝ่ายบริหารจัดการ และยอดบนสุดคือผู้บริหาร
หากเราลองกลับพีระมิดที่ว่านี้ โดยเอาพนักงานไปไว้ในตำแหน่งชั้นบนสุดของพีระมิด ในขณะเดียวกันให้ผู้บริหารไปอยู่ที่ฐานล่างสุด เมื่อพีระมิดถูกพลิกกลับ แต่ละระดับชั้นของพนักงานก็จะมีอิสระในการเป็นผู้นำตนเองมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้ผู้บริหารเป็นฝ่ายคอยกระจายความเป็นผู้นำลงมาจากยอดบนสุด ก็กลายเป็นว่าองค์กรได้จัดสรรความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นในทุกระดับชั้นการบริหาร
เมื่อสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในส่วนนี้ได้ ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องของการสร้างภาวะความเป็นผู้นำที่ประกอบด้วย เสาหลัก 5 ประการที่คอยค้ำยันความเป็นผู้นำเอาไว้
เสาหลักที่ 1 - การเจียระไนทางความคิด
หนังสือกล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นไปเพื่อให้คุณรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ คุณต้องรู้ว่าตัวเองยืนอยู่ในจุดไหน และต้องการให้ตัวเองและองค์กรมุ่งหน้าไปทางทิศใด เพื่อคุณจะสามารถกำหนดผลลัพธ์ที่คุณต้องการได้อย่างแน่นอนและชัดเจน สำหรับในองค์กรนั้น ทั้งหัวหน้าและลูกทีมต้องร่วมกันสร้างจุดหมายให้องค์กร การที่ส่งเสริมให้พนักงานในทุกระดับมีส่วนร่วมในการวางเป้าหมายขององค์กร จะช่วยให้สมาชิกในองค์กรนำความสำเร็จส่วนตัวไปผูกไว้กับความสำเร็จของส่วนรวมด้วย ถึงกระนั้นก็อาจจะมีเป้าหมายบางประการที่ขัดแย้งกันอยู่ คุณจึงจำเป็นต้องลำดับความสำคัญ โดยอาศัยระบบคุณค่าขององค์กรที่คุณและลูกทีมรับรู้และให้ความเคารพร่วมกัน
เสาหลักที่ 2 - การลงมือเขียนแผนการทำงาน
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะหากไม่เขียนแผนงานเป็นลายลักษณ์อักษร ความคิดที่อุตส่าห์เจียระไนออกมาก็จะลืมเลือนได้โดยง่าย อีกทั้งแผนงานยังเป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพในการบริหารเวลาและพลังงานอีกด้วย สิ่งสำคัญของแผนงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้คือการกำหนดเส้นตาย เพราะมันจะไปกระตุ้นสารเคมีในร่างกายให้เกิดการตอบสนองต่อตารางที่คุณกำหนดไว้ ผลที่ตามมาคือคุณจะคิด ลงมือทำ และตอบสนองกับงานด้วยความเร่งรีบในระดับพลังงานที่เหมาะสม
เสาหลักที่ 3 การสร้างความปรารถนากับความกระหายอยาก
ความปรารถนาเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดการทำตามแผนงานที่คุณวางไว้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจึงมักสร้างความกระหายอยากอย่างแท้จริง เพื่อผลักดันให้ตัวเองก้าวไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายของตัวเอง การมีความปรารถนาและความกระหายอยากนี้เองจะช่วยให้ประสิทธิภาพของบุคคลนั้นเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ หรือมีสิ่งที่เรียกว่าพลังก๊อกสอง แต่หากไม่มีแล้วจะทำให้สูญเสียความแข็งแกร่ง ความเชื่อมั่นในตนเอง ความเป็นผู้นำก็จะหมดไปด้วย
เสาหลักที่ 4 การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ
หากคนเราไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าตนเองไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ ก็จะเกิดกำแพงมาปิดกั้นความสามารถที่แท้จริงไว้ เช่นเดียวกับผู้นำที่ไม่เชื่อมั่นในลูกทีมของตนเอง ลูกทีมก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คุณเองก็จะเหนื่อยเกินจำเป็น เพราะต้องรับภาระงานทุกอย่างมาไว้ที่ตนเอง ในขณะที่ลูกทีมเองก็ไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพ ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน ความสามารถของเขาก็ไม่ได้ขยับไปไหน นั่นเองแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นจะช่วยสร้างความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลได้
เสาหลักที่ 5 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบ
ผู้นำต้องเปิดโอกาสให้ลูกทีมได้ลองปฏิบัติ โดยมอบหมายอำนาจให้อย่างเป็นทางการ แม้จะเกิดความผิดพลาดก็สามารถนำความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนได้ เพราะหากลูกทีมไม่มีโอกาสได้ทำงานจริงๆ เขาก็ไม่รู้สึกมีส่วนร่วม ไม่เกิดการพัฒนา ต้องให้เขาเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กรไปด้วยกัน เพื่อให้เขาเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมทุกวันนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว หากองค์กรมีบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำ เขาจะสามารถคิดและปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างทันท่วงที องค์กรนั้นก็จะมีความได้เปรียบ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการส่งเสริมภาวะความเป็นผู้นำภายในองค์กรนั้นจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวพนักงานเองและองค์กรโดยรวมด้วย
ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถเป็นผู้นำได้ ขอเพียงคนคนนั้นมีความตั้งใจจริง กล้าหาญ ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และต้องการช่วยเหลือผู้อื่นในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นสะพานก้าวข้ามช่องโหว่ สู่ความเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพและสง่างามยิ่งขึ้น


ที่มา : Bangkokpost.co.th