7.01.2555

พฤติกรรมของผู้นำ ใน ยุควิกฤติ

พฤติกรรมของผู้นำในยุควิกฤติ ในปัจจุบันนี้ มีการพูดถึงเรื่อง "ภาวะของการเป็นผู้นำ" หรือคำว่า "ผู้นำ" กันมากขึ้น จึงอยากเน้นในเรื่อง "พฤติกรรมของผู้นำ" ในขณะนี้ องค์กรธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ตึงเครียด มีความกดดันสูงทั้งจากภายในและภายนอก บุคคลที่นั่งอยู่ในตำแหน่งของผู้นำนั้นควรจะต้องมีพฤติกรรมของการเป็นผู้นำให้เหมาะสมอยู่กับตำแหน่งที่ตนนั่งอยู่ด้วย การเป็นผู้นำนั้นมิใช่แค่เพียงเป็นผู้เสนอความคิดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำเอาความคิดและความเห็นเหล่านั้นนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในทุกกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำเอาวิสัยทัศน์ของตนมาดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ภารกิจของผู้นำองค์กร คือ การที่บุคคลผู้นั้นจะต้องนำเอาธุรกิจพร้อมทั้งคนในองค์กรก้าวออกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งคนเหล่านั้นไม่เคยไปมาก่อน จริงๆ แล้วคนในองค์กรหรือคนรอบข้างนั้นอาจไม่มีความเข้าใจเลยว่าองค์กรของเรากำลังเดินทางไปสู่ที่ใด แต่ผู้นำนั้นจะต้องรู้ว่า เป้าหมายขององค์กรคืออะไร เพราะฉะนั้นผู้นำจึงจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่แจ่มชัดจริงๆ และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เราอาจพบว่าผู้นำหลายๆ คน อาจถูกมองว่าเป็นบุคคลที่นำปัญหามาสู่องค์กร แต่คนที่ไม่มีความเป็นผู้นำกลับถูกมองว่าเป็น Popular Vote เนื่องจากตนเองไม่ได้นำสิ่งใหม่ๆ มาสู่องค์กรนั้นเลย แต่กลับได้รับคะแนนนิยมมากกว่า ดังนั้น จึงขอนำเสนอถึงองค์ประกอบ 3 ประการ ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้นำได้รับความเข้าใจจากบุคคลรอบข้างมากขึ้น ประการแรก คือ ผู้นำจะต้องสร้างความรู้สึกของความจำเป็น หรือที่เรียกว่า "Sense of Urgency" ให้พนักงาน รวมถึงบุคคลรอบข้างได้มีความรู้สึกร่วมกันถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนตนเอง ประการที่สอง คือ การกำหนดทิศทางขององค์กรอย่างชัดเจน และให้เป็นไปในทางที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งที่สำคัญคือ คนที่เป็นผู้นำนั้นต้องสามารถมองเห็นถึงจุดหมายปลายทางขององค์กร และต้องไม่ลืมว่าจุดหมายปลายทางที่ว่านั้นจะมองเห็นเพียงคนเดียวนั้นไม่พอ แต่จะต้องให้ผู้อื่นมองเห็นจุดหมายดังกล่าวด้วยโดยการสื่อออกไป ไม่ว่าจะเป็นสื่อสดหรือสื่อแห้ง ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือผ่านทางสื่ออื่นใดของภายในแต่ละองค์กรนั้นๆ ประการที่สาม คือ ผู้นำจะต้องเป็นผู้นำพาพนักงานหรือองค์กรธุรกิจนั้นไปในทุกย่างก้าวของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าผู้นำจะเป็นเพียงผู้ที่พูดหรือเสนอความคิดเห็นแล้วหายไปโดยไม่ได้ลงมือร่วมกันปฏิบัติไปกับบุคลากรภายในองค์กร หากทว่าต้องเดินไปพร้อมๆ กันในแต่ละก้าวตลอดการเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งกับพนักงานและทั้งกับธุรกิจจึงจะเรียกว่าเป็น "ผู้นำ" ที่แท้จริง นี่คือองค์ประกอบ 3 ประการของผู้นำในยุคปัจจุบัน "การสร้างความเข้าใจ" นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ผู้นำยุคใหม่จำเป็นต้องรู้ ซึ่งมีขั้นตอนการสร้างความเข้าใจอยู่ 4 ขั้นตอน คือ 1. Awareness 2. Understanding 3. Buy-In 4. Commitment โดยปกติของคนเรานั้น เมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม เมื่อได้มีการแจ้งข่าวสาร ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงนั้นออกไป ผู้รับฟังก็จะเริ่มรับรู้ (Aware) ข้อมุล ข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่เข้ามา ถ้าข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่พนักงานคนนั้นไม่สนใจ ไม่นานข้อมูลเหล่านั้นก็จะถูกลืม แต่กลับกัน หากข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับตัวพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันหรืออนาคตก็ตาม พวกเขาก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า ข้อมูลเหล่านั้นมีผลกระทบที่ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง หรือยังมีข้อสงสัยอะไรอยู่บ้าง เมื่อนั้น จึงก้าวสู่ขั้นที่ 2 คือ ผู้นำต้องสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานของตน การที่จะสร้างความเข้าใจได้นั้น ก็ต่อเมื่อคำถามหรือข้อสงสัยเหล่านั้นได้รับคำตอบ เพราะฉะนั้น การสื่อสารในขั้นตอนนี้ จึงจำเป็นต้องเป็นการสื่อสารแบบ Two ways Communication คือ "รับฟัง" และ "ตอบคำถาม" ด้วย มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในระดับนั้นคนจึงจะเกิดความเข้าใจ (Understanding) เมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว พนักงานก็จะเกิดคำถามตามมาว่า ควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป เราในฐานะผู้นำจะต้องมีคำตอบที่มากขึ้น ในช่วงนี้เองที่ผู้นำต้องมีรูปธรรมเข้ามาประกอบ เช่น องค์กรจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปในทิศทางใด องค์กรจะมีการปรับเปลี่ยนระบบอย่างไร ฯลฯ ผู้นำจะต้องทำให้พนักงานเกิดความเข้าใจภายใน และความเข้าใจนั้นสามารถจับต้องได้ด้วยมือ ด้วยตา หรือรับรู้ได้ด้วยระบบความคิดจองตัวพนักงานเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นทั้งการรับรู้แบบ Mental Try-out คือ การรับรู้ได้จากการเห็น และทางมโนภาพหรือจินตภาพ คือ การทำให้พนักงานเกิดการรับรู้ให้ได้ ด้วยการนำเอาแบบจำลองหรือตัวอย่างของสินค้า หรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์ออกมานั้นคือ หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ผู้นำก็ควรที่จะมี Model ที่ชัดเจน เช่น อาจต้องมีสิ่งอ้างอิงอื่นๆ ให้พนักงานเกิดความมั่นใจและพร้อมที่จะเดินไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะก้าวไปกับผู้นำขององค์กรด้วย เมื่อผู้นำทำให้เกิดความเข้าใจได้แล้วนั้น ก็จะก้าวเข้าสูขั้น Buy-In คือ ขั้นที่เหนือไปกว่าความเข้าใจ และพนักงานสามารถนำไปปฏิบัติได้ เพราะได้เห็น ได้จับต้องแล้ว ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดหรือเป็นช่วงวิกฤติ เพราะเป็นช่วงที่จะต้องนำไปปฏิบัติจริง ช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ได้มากที่สุด ฉะนั้น หากผู้นำได้อยู่ช่วยเหลือและคอยให้การปรึกษา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ วิธีการทำงานแบบใหม่ หรือโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ เมื่อได้อยู่แก้ปัญหาในการ Implement ในการนำไปใช้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น เมื่อพนักงานได้เห็นผลตามที่ผู้นำได้เคยกล่าวถึงวิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง พนักงานก็จะเกิด Commitment ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย คือ การยอมรับและนำเอามาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ที่กล่าวมานี้ก็คือ ศาสตร์และศิลป์ของการสร้าง "ความเข้าใจ" และ "การยอมรับ" ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่คนที่อยู่ในฐานะของผู้นำต้องทำให้ได้ ก่อนที่เราจะนำองค์กรไปสู่อนาคตได้นั้น ผู้นำจะต้องมีความเข้าใจถึงปฏิกิริยาของมนุษย์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน ซึ่งเป็นจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน 5 ประการ คือ 1. Validation คือ มนุษย์มีความต้องการให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม และรู้สึกว่าตนนั้นเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพราะฉะนั้นถ้าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้คนผู้นั้นขาดการยอมรับจากกลุ่ม หรือขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อนั้นคนที่เป็นผู้นำจะได้รับการต่อต้านทันที แต่กลับกัน ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีผลกระทบกับพนักงาน หรือเป็นการส่งเสริมความมั่นใจให้แก่พนักงาน ผู้นำก็จะได้รับการยอมรับและสนับสนุนในทันทีเช่นกัน 2. Idealization คือ มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะฝันถึงอนาคตได้ และย่อมอยากเห็นตัวเองในอนาคตนั้นดีขึ้น เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสร้างอนาคต สร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ ผู้นำก็จะได้รับการยอมรับจากตัวพนักงาน หรือหากว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้มีผลกระทบใดๆ ก็ถือว่าคงที่ และถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นไปมีผลกระทบให้พนักงานหมดอนาคตหรือตัดความก้าวหน้าของพนักงานในองค์กร ก็จะทำให้พนักงานเหล่านั้นท้อแท้และไม่สนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ 3. Structure คือ มนุษย์เรานั้นต้องการภาวะที่มีรูปแบบ ถ้าหากว่าพนักงานต้องตกอยุ่ในภาวะไร้ที่พึ่ง บ้านแตกสาแหรกขาด เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถหาที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ผู้นำควรสร้างหลักหรือกรอบว่า เมื่อมีเรื่องนี้ต้องคุยกับใคร ใครที่สามารถให้คำตอบกับพนักงานได้จริงๆ ใครที่สามารถให้คำปรึกษา ให้คำชี้แจงในแต่ละคำถามได้ หากว่าทำเช่นนี้ได้แล้ว ผู้นำก็จะได้รับการสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากทำไม่ได้แล้วย่อมได้รับการต่อต้านจากพนักงาน 4. Kinship คือ มนุษย์ต้องการรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม สังเกตได้จากการที่พนักงานในแต่ละองค์กรย่อมมีกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกันต่างๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่จะไปทานอาหารกลางวันด้วยกัน กลุ่มที่จะเล่นกีฬาด้วยกัน กลุ่มที่สามารถพูดคุยกันได้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ทำให้กลุ่มของพนักงานเหล่านั้นต้องแตกแยกกัน กลุ่มพนักงานเหล่านั้นก็จะรู้สึกต่อต้าน แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงใดทำให้กลุ่มของพนักงานนั้นยังคงรวมกันเป็นกลุ่มอยู่ได้หรือดีขึ้น กลุ่มของพนักงานเหล่านั้นย่อมให้การสนับสนุน และผู้บริหารที่ดีย่อมให้ความสำคัญกับทุกๆ กลุ่มของพนักงานภายในองค์กร เมื่อเล็งเห็นถึงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะไม่ควร เช่น กลุ่มที่ชอบเล่นการพนัน กลุ่มที่ชอบเบียดเบียนเวลาทำงาน เหลวไหลไม่มีคุณภาพ ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการทำลายกลุ่มนี้ให้แยกออกจากกัน ขณะเดียวกันกลุ่มใดที่เป็นกลุ่มที่ดี เช่น กลุ่มที่มีศักยภาพ มีอนาคต มีความพยายาม มีความขยันขันแข็งอยู่แล้ว ผู้บริหารก็ควรรักษากลุ่มคนเหล่านี้ไว้ 5. Autonomy คือ มนุษย์แต่ละคนย่อมต้องการอิสระของตนเองในระดับหนึ่ง พนักงานทุกคนย่อมไม่อยากให้ผู้บริหารมาควบคุมอยู่ตลอดเวลา สร้างความอึดอัดให้เกิดขึ้นกับตัวพนักงาน ดังนั้น ผู้บริหารควรมีช่องว่างที่จะให้โอกาสพนักงานแต่ละคนได้บริหารหรือทำงานอย่างอิสะในระดับหนึ่ง การสร้างสมดุลนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ผู้บริหารจึงควรสร้างสมดุลในการให้อิสระกับพนักงาน และระดับการควบคุมที่ผู้บริหารพึงจะต้องมี เพื่อให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานของงาน ความจริงแล้วนั้น คนเราเมื่อต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ก่อให้เกิดกรอบหรือสร้างความอึดอัดก่อให้เกิดความกลัวการเปลี่ยนแปลงและไม่พร้อมที่จะก้าวไปกับผู้นำ ซึ่งไม่เป็นเพียงเรื่องของอนาคต หรือวิสัยทัศน์ของผู้นำเท่านั้น เพราะหากว่าอนาคตหรือวิสัยทัศน์เหล่านั้น ถ้าไม่มีอคติมากจนเกินไป พนักงานก็จะยอมรับและมีความเข้าใจ แต่สิ่งที่ทำให้คนเราเกิดความกลัวหรือไม่อยากสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจากผู้บริหาร เกิดจากช่วงเวลาระหว่างปัจจุบันและอนาคต ในระหว่างของการก้าวเดินไปในแต่ละก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลานี้เองที่พนักงานอาจเกิดความไม่แน่ใจหรือแตกแถวได้ง่ายที่สุดเป็นช่วงที่เกิดความรู้สึกขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ขาดที่ปรึกษาหรือหลัก เหล่านี้คือ สิ่งที่ "ผู้นำ" ต้องบริหารให้ภาวะต่างๆ ในเรื่องความต้องการพื้นฐาน 5 ประการของมนุษย์ในด้านลบให้ลดลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มปัจจัยในด้านบวกเข้าไปเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นราบรื่นไปในทิศทางที่ผู้นำต้องการ ผู้นำที่มีคุณภาพจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1. มีอำนาจและบารมี (POWER) เพราะผู้นำมีหน้าที่ปรับเปลี่ยนระบบงานและกระบวนการทำงานหลายๆ อย่าง ซึ่งเมื่อได้กำหนดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องมีคนที่รับไปปฏิบัติ ดังนั้นพนักงานจะต้องยอมรับในคำสั่งหรือการเปลี่ยนแปลงที่มาจากตัวผู้บริหาร 2. เป็นผู้ที่มีความอดทน (PAIN) ผู้บริหารจะต้องมีระดับของความอดทนสูง เพราะจะต้องได้รับความกดดันจากสิ่งต่างๆ รอบข้างเข้ามา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้งที่มีการก้าวไปข้างหน้าและต้องพบกับแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอก 3. เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ (VISION) ผู้นำต้องมองเห็นอนาคตอย่างชัดเจน และสามารถที่จะอธิบายให้พนักงานและผู้บริหารคนอื่นๆ สามารถเข้าใจถึงเป้าหมายและเหตุผล ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง และต้องมองเห็นถึงความเป็นไปได้ ปัญหาหรืออุปสรรคในภายภาคหน้า สิ่งที่อาจทำให้งานไม่สำเร็จ รวมถึงต้องสามารถระบุแนวทางในการลดปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นได้ 4. ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้สนับสนุนปัจจัยในการทำงาน (RESOURCES) ผู้นำต้องมีความเข้าใจในการจัดแบ่งปัจจัยในการทำงาน เพื่อให้การทำงานหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นประสบความสำเร็จ และผุ้บริหารยังต้องมีความจริงใจในการให้ปัจจัยเหล่านั้นกับความเปลี่ยนแปลงหรือการก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และเกิดความสำเร็จขึ้นได้ 5. ผู้นำต้องทราบหรือเข้าใจผลกระทบที่มีต่อองค์กรจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (ORGANIZATION IMPACT) ผู้บริหารจะต้องมีความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลอย่างไรบ้างต่อองค์กร และต้องมีการเตรียมตัวรับต่อผลกระทบซึ่งอาจเป็นทางลบได้อย่างไรบ้าง และผลกระทบในทางบวกนั้นจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะเสริมผลเหล่านั้นให้เกิดได้มากขึ้น 6. ผู้บริหารจะต้องเข้าใจถึงผลกระทบต่อพนักงานจากการเปลี่ยนแปลงนั้น (HUMAN IMPACT) ผู้นำที่ดีจะต้องมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ มีความเอื้ออาทรแก่พนักงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละครั้ง หรือการนำองค์กรไปสู่อนาคตในแต่ละครั้ง จะต้องถามตัวเองเสมอว่า สิ่งเหล่านั้นสร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพนักงานในแต่ละระดับหรือทุกระดับอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานชั้นผู้น้อย พนักงานในระดับกลาง หรือผู้บริหารในระดับอื่นๆ เพื่อที่จะหาทางบรรเทาหรือลดผลกระทบในทางลบลงให้ได้ 7. ขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงหรือการก้าวไปข้างหน้า (SCOPE) ผู้บริหารจะต้องมีความเข้าใจในขนาดของกลุ่ม ซึ่งจะต้องถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของพนักงาน ลูกค้า หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งถูกกระทบจากแผนกลยุทธ์ที่มีผู้บริหารได้วางเอาไว้ เพื่อที่จะได้มองหาถึงแนวทางในการตอบรับ ไม่ว่าจะเพื่อการบรรเทาหรือเพิ่มผลให้ได้ดีขึ้น 8. บทบาทอย่างเป็นทางการของผู้นำ (PUBLIC ROLE) ผู้นำต้องสามารถแสดงบทบาทของตนเองต่อหน้าพนักงานหรือผู้บริหารด้วยกันเอง หรือแม้ในที่สาธารณะ เพื่อที่จะถ่ายทอดเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีความน่าเชื่อถือ ในฐานะที่เป็นตัวแทนขององค์กรได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับและนับถือจากบุคคลรอบข้าง ก็จะเป็นการเสริมบารมีให้กับตนเองได้ในการที่จะไปติดต่อหรือขอความร่วมมือจากคนรอบข้าง 9. บทบาทของผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (PRIVATE ROLE) หมายความว่า ผู้นำต้องสามารถแสดงความเมตตาอย่างเป็นส่วนตัวทั้งต่อพนักงานและกลุ่มของพนักงาน ให้พวกเค้าเกิดความรู้สึกเป็นกันเองมนฐานะที่เป็นปุถุชนคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บทบาทอย่างไม่เป็นทางการนี้ ไม่ควรนำเอาเรื่องส่วนตัวหรือความรู้สึกส่วนตัวที่เมื่อกล่าวออกไปแล้วจะค้านกับแนวทางขององค์กรหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างเด็ดขาด 10. ต้องมีการบริหารผลต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือจากกลยุทธ์นั้น (CONSEQUENCE MANAGEMENT) ผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะรับภาระผลต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบจากกลยุทธ์หรือโครงการ ซึ่งอาจจะมีความไม่พอใจเกิดขึ้น ผู้บริหารจะต้องแสดงจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนในกลยุทธ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่ได้นำเสนอไป และต้องสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้เกิดการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ นั้น 11. การติดตามความก้าวหน้าของงาน (MONITORING ACTIVITIES) ผู้นำนั้นจะต้องติดตามงานอย่างต่อเนื่อง เพราะการติดตามงานจะแสดงให้คนรอบข้างเห็นถึงความจริงจังต่อการทำงานเพื่อให้งานประสบผลสำเร็จ อีกทั้งการติดตามผลงานด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาและอุปสรรค ซึ่งพนักงานรอบข้างหรือคณะทำงานอาจไม่ได้รายงานให้ทราบ แต่เราจะทราบได้ก็ต่อเมื่อได้ลงไปพบกับปัญหาและกับโครงการหรือกลยุทธ์เหล่านั้นในระหว่าการนำไปใช้และการนำไปปฏิบัติ 12. การเสียสละ (SACRIFICE) ผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับกลยุทธ์ โครงการ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ตนได้อนุมัติหรือนำเสนอไป เพราะในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งนั้น อาจจะต้องผ่านกระแสการเมืองภายในองค์กร หรืออาจมีความผิดพลาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ บางครั้งผู้บริหารจึงต้องยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่างด้วย เพื่อให้งานใหญ่นั้นประสบผลสำเร็จ ในบางครั้งที่มีความเสียหายเกิดขึ้นนั้น ผู้บริหารอาจจะต้องยอมรับว่าเกิดจากความผิดพลาดของตนเอง ไม่ควรโยนความผิดให้กับผู้อื่น เพราะจะเป็นการทำลายภาพพจน์ของตนเองได้ 13. ต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง (SUSTAINED SUPPORT) ผู้นำจะต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่าให้การสนับสนุนต่อโครงการหรือกลยุทธ์ที่ตนได้อนุมัติไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือเห็นผลอย่างชัดเจน ในบางครั้งหากว่าเป็นโครงการระยะยาวอาจต้องสนับสนุนให้มีการทำ Short Term Benefit ขึ้นมา หรือเป็นผลประโยชน์ที่มองเห็นได้ชัดในระยะเวลาอันสั้น เพื่อทำให้คนรอบข้างได้มองเห็นว่าโครงการหรือกลยุทธ์ที่ทำอยู่นั้น เป็นโครงการหรือเป็นกลยุทธ์ที่ดีมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ข้อนี้นับเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจและให้การสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ เหล่านั้นอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ ใ โดย ทายาท ศรีปลั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น